ทำไมทุเรียนต้องแพง

ผู้บริโภคที่ซื้อทุเรียนกินล้วนแล้วแต่บ่นว่าทำไมทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ที่ผลิตในประเทศไทยแท้ๆ ถึงได้ขายคนไทยด้วยกันแพงนัก ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นลูกชาวสวน พอจะมีทุเรียนอยู่บ้าง และได้เห็นกรรมวิธีในการผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด จึงอยากจะเล่าสู่กันอ่าน ว่าทำไมทุเรียนต้องแพง

ช่วงเดือน มิถุนายน – สิงหาคม ของทุกปี จะเป็นช่วงฤดูกาลผลไม้อย่าง “ทุเรียน” ซึ่งสามารถปลูกได้แทบทุกภาคของประเทศไทย แต่แหล่งผลิตทุเรียนใหญ่ๆ ก็น่าจะมาจากภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง เป็นต้น และภาคใต้ ส่วนภาคกลาง เช่น ทุเรียนเมืองนนท์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องราคาแพงหูฉี่

ทุเรียนที่นิยมก็จะมีพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว ชะนี หรืออื่นๆ ราคาทุเรียนในท้องตลาดตามปกติ ที่เราเห็นๆ กันแต่ละปีจะอยู่ในช่วงกิโล 100-150 บางร้านที่คัดเกรดหน่อยก็จะราคากิโลละ 200-300 บาท หรือถ้าเป็นทุเรียนเกรดดีพรีเมี่ยมก็ราคาเกิน 500 ต่อ 1 กิโลกรัม เลยก็มี

เริ่มต้นที่ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์กันเลย การเก็บเมล็ดพันธุ์ดีๆ เพื่อไว้เพาะพันธุ์ให้กลายเป็นต้นทุเรียนก็ต้องคัดต้นที่สวยสมบูรณ์ โดยราคาต้นกล้าตกต้นละประมาณ 200-500 บาท ตามคุณภาพของต้นกล้า

พื้นที่ในการปลูกทุเรียน โดยส่วนใหญ่จะไม่ปลูกปนกับต้นไม้ใหญ่อื่นๆ เพราะทุเรียนชอบแสงแดด ไม่ชอบความชื้นที่มากเกินไป จะทำให้ต้นขึ้นรา มีเชื้อโรคตามมา เมื่อลงต้นกล้าแล้ว ต้องหมั่นดูแล ตกแต่ง รดน้ำ ใส่ปุ๋ย กำจัดศัตรูที่คอยรบกวน ทั้งหนอน แมลง เชื้อรา หรือโรคที่เกิดกับต้นทุเรียน เป็นเวลา 6-7 ปี ถึงจะออกดอก ออกผล

ต้นทุเรียน

เมื่อครบอายุที่ทุเรียนจะต้องออกดอกแล้ว ก็ต้องดูแลรดน้ำ ใส่ปุ๋ยเร่งดอก และเมื่อดอกเริ่มโผล่ออกจากต้น การดูแลก็จะยิ่งมากขึ้น แบ่งเป็นช่วงดอกตูม ดอกบาน ดอกร่วงพร้อมจะเป็นลูก

ดอกทุเรียน

ดอกทุเรียน

ดอกทุเรียน

เมื่อดอกร่วงแล้วก็พร้อมที่จะเป็นลูก ก็ต้องเริ่มให้อาหารบำรุงอีกครั้ง ช่วงนี้ทุเรียนจะขาดน้ำไม่ได้เลย และโดยส่วนใหญ่ช่วงนี้จะอยู่ในเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง หลายๆ ที่ขาดน้ำ เจ้าของสวนทุเรียนบางเจ้าถึงกับต้องซื้อน้ำรดทุเรียนกันเลยทีเดียว อย่าว่าจะให้ทุเรียนเป็นลูกเลย เอาแค่ไม่ให้ต้นตายเพราะขาดน้ำก็บุญแล้ว

ลูกทุเรียน

เมื่อเริ่มเป็นลูกเล็กๆ ถ้าฟ้าฝนไม่เป็นใจ ก็ยังต้องรดน้ำกันต่อไป และให้อาหารบำรุงให้ลูกโต ระหว่างนี้ก็ต้องเฝ้าระวังป้องกันศัตรูพืชต่างๆ เช่น หนอน

เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ก็ถึงช่วงเวลาที่ต้องคัดทุเรียน เพื่อเลือกทุเรียนที่เข้ารอบถัดไป โดยชาวสวนต้องตัดทุเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานทิ้ง ไม่ให้แน่นเกินไป เพราะจะแย่งอาหารกัน และกิ่งทุเรียนรับน้ำหนักไม่ไหว

ลูกทุเรียนที่ได้เข้ารอบ ก็ถูกบำรุงให้โตเพื่อเตรียมพร้อมที่จะออกสู่ตลาด

ทุเรียน

แต่เรื่องไม่จบแค่นี้ เส้นทางไม่ได้สบายเหมือนโรยด้วยกลีบดอกทุเรียน ชาวสวนต้องระวังเจ้าหนอนที่คอยบ่อนทำลายโดยไม่รู้ตัว เชื้อราที่เข้ามาโดยไม่บอกกล่าว เจ้ากระรอกที่ชอบกัดกินแต่ลูกสวยๆ จนเป็นรอยเว้าแหว่ง และช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่ฝน ฟ้า พายุ กำลังมาพอดี ถ้าเจอลมแรงเข้าไป ทุเรียนหล่นหมดนี่ น้ำตาหล่นบนขอบเตียงกันเลยทีเดียว

นอกจากศัตรูพืช ดิน ฟ้า อากาศแล้ว เจ้ามนุษย์ที่ขึ้นชื่อว่า “โจร” ก็ต้องเฝ้าระวังกันจนท้อใจ เพราะราคามันเป็นตัวล่อใจให้โจรพวกนี้ขโมยตัดทุเรียนของชาวสวนไปขาย สวนไหนเฝ้าได้ตลอดเวลาก็รอดไป สวนไหนเผลอก็โดนโจร

อย่างสวนที่บ้านผู้เขียนเอง ตั้งแต่พ่อเสียก็เหลือแต่แม่ที่คอยดูแล (พ่อเสียไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว) ไม่สามารถเฝ้าได้ตลอดเวลาก็โดนขโมยตัดทุเรียนทุกปี ปีละ 50-100 ลูก อยากจะติดกล้องวงจรปิดที่สวน (โจรจะได้ขโมยไปทั้งกล้องทั้งทุเรียน) หรือฝังชิพติดตามลูกทุเรียนซะจริงๆ

จะเห็นว่ากว่าจะได้ทุเรียนออกสู่ตลาดและถึงมือผู้บริโภค ต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องใช้เวลา 7 ปีเป็นอย่างต่ำในการเฝ้าดูแล อาชีพเกษตรกรไม่ใช่อาชีพที่พยายามทำเต็มที่แล้วจะได้ผลดีเสมอไป มันต้องอยู่ที่สภาพ ดิน ฟ้า อากาศเป็นใจด้วย แล้งมากไปต้นก็แห้งตาย ฝนมากไปต้นก็เน่า พายุกระหน่ำก็หมดไม่เหลืออะไร

ทุเรียน

ทุเรียน ไม่ใช่ผลไม้ที่ปลูกแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้โตเองตามยถากรรมได้ ต้องหมั่นดูแล เอาใจใส่ ทะนุถนอม เข้าใจและเรียนรู้ไปกับมัน ในทุกช่วงการเติบโตไปตลอด เหมือนเลี้ยงเด็ก นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมทุเรียนถึงมีราคาแพง ยิ่งทุเรียนที่ลูกละเป็นหมื่น หรือหลายหมื่นคงไม่ต้องพูดถึงว่าเจ้าของสวนจะประคบประหงมดูแลขนาดไหน

ทุเรียน

ชาวสวนบางรายมีรายได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ก็ตอนที่ได้ตัดผลไม้ขาย เมื่อฤดูกาลผลไม้มาถึง จึงเป็นช่วงที่ชาวสวนมีความหวัง มีกำลังใจ สุดท้ายนี้อยากจะกล่าวคำว่า “ขอขอบคุณ” ผู้บริโภคทุกท่าน ที่ยังให้การอุดหนุนผลไม้ไทย ไม่ว่าจะ มังคุด ทุเรียน เงาะ ลำไย หรือผลไม้ใดๆ

และฝากถึงชาวสวนทุเรียนที่ต้องควบคุมคุณภาพของทุเรียนให้ได้มาตรฐาน ไม่ตัดทุเรียนอ่อนมาขาย เพื่อให้ผู้บริโภคได้กินทุเรียนที่ดีและอร่อย เมื่อผู้บริโภคได้อิ่มอร่อยกับผลไม้ ชาวสวนก็ได้อิ่มท้อง อิ่มใจไปกับท่านด้วย

ขอขอบคุณจากใจ

 

Facebook Comments