ซีรีส์เกาหลี VS ละครไทย
เมื่อมีเวลาว่างมากๆ เช่นต้องนั่งรออะไรนานๆ หรือเวลาที่นอนไม่หลับ ผู้เขียนจะใช้เวลาเหล่านี้ไปกับการดูซีรีส์เกาหลี หรือไม่ก็ละครไทยบ้าง ซึ่งบางครั้งถ้าดูแล้วติดมากๆ จะแอบกินเวลาอื่นๆ ไปด้วย
เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมถึงไม่ติดละครไทยเหมือนกับเวลาติดซีรีส์เกาหลี ติดถึงขนาดที่ว่าดูได้ยันเช้าเลย เพราะมันเข้มข้นจนต้องรีบดู ep ถัดไปให้ได้ ไม่งั้นนอนไม่หลับ
ละครไทยที่ดูเรื่องล่าสุดคือเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ทางช่อง 3 เป็นละครไทยที่ดูตั้งแต่ตอนแรกยันตอนสุดท้าย จำได้ว่าตอนแรกๆ โฆษณาน้อยมาก มีแค่ 1-2 ตัว แต่เนื้อเรื่องแปลกใหม่ มีการข้ามภพมาอยู่ในยุคอดีต คุณเบลล่า ก็แสดงได้น่ารัก สมกับเป็นแม่หญิงการะเกดเสียจริง
และละครเรื่องนี้ก็ดังเป็นพลุแตก “ออเจ้า” กลายเป็นศัพท์ฮิตติดปากในช่วงนั้น มีอยู่ตอนหนึ่งที่แม่หญิงการะเกดทำมะม่วงน้ำปลาหวาน ผู้เขียนถึงกับอยากกินขึ้นมาเดี๋ยวนั้น จนต้องออกไปหาซื้อในเซเว่นเลยทีเดียว นับได้ว่า บุพเพสันนิวาส เป็นละครไทยที่ผู้เขียนติดมากที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี
หลังจากนั้นก็ลองพยายามดูละครไทยเรื่องอื่น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกติดและอยากดูต่อเนื่อง เลยทำให้คิดว่าละครไทย แตกต่างจากซีรีส์เกาหลีตรงไหน ทำไมดูแล้วถึงไม่ติด ไม่โดนตก
ก่อนอื่นต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว ทั้งวงการหนัง ซีรีส์ หรือวงการเพลง
ความมีเสน่ห์ของซีรีส์เกาหลีที่ละครไทยไม่มี ในความเห็นของผู้เขียน เช่น
นักแสดง
นักแสดงในบทบาทต่างๆ ถูกคัดเลือกมาได้เหมาะกับตัวละครนั้นๆ จนเราเชื่อว่าเค้าเป็นคนนั้นจริงๆ อย่างเช่น หมอแบคบอม ในเรื่อง Partners for Justice ที่ผู้เขียนรีวิวไว้ก่อนหน้านี้ แสดงได้จนเชื่อว่าเป็นหมอผ่าศพจริงๆ
หรือ อาจารย์คิม จากเรื่อง Dr. Romantic ที่ดูยังไง ก็คือหมอ คืออาจารย์หมอที่อุทิศตัวเพื่อโรงพยาบาลทลดัม
จีซอนอู จากเรื่อง A world of Married Couple ที่รับบทโดยคิมฮีเอ ก็แสดงได้เชื่อจริงๆ ว่าเป็นเมียหลวงที่ผ่านมรสุมชีวิตแต่งงานที่ล้มเหลว ต้องต่อสู้กับสามีเก่าและเมียน้อย จนได้รางวัลนักแสดงนำหญิงไปครอง
จะเห็นได้ว่านักแสดงที่กล่าวมามีอายุค่อนข้างมากแล้ว แต่ก็ยังได้รับแสดงเป็นบทนำในเรื่องอยู่ ซึ่งสิ่งนี้เราไม่เห็นในละครไทยในละครไทยหากนักแสดงมีอายุมากจะไม่ค่อยได้เล่นบทนำ ทั้งๆ ที่ฝีมือทางการแสดง และประสบการณ์ก็เทียบเท่านักแสดงต่างชาติ
แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนักแสดงเกาหลีเป็นที่นิยมในไทยมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นอปป้าต่างๆ ที่สาวๆ คลั่งไคล้ หรือนักแสดงหญิงที่ล้วนแล้วแต่มีหน้าตาเป็นที่นิยมในไทย
บท
ปัจจุบันซีรีส์เกาหลีมีเนื้อเรื่องที่ทันสมัย บางเรื่องมีการนำเรื่องเทคโนโลยีอย่าง AI, Big Data เข้ามาสอดแทรกในบทละคร และความมีเสน่ห์ที่สุดคือ บทที่เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ เช่น หมอ ในซีรีส์หลายๆ เรื่องเช่น Good Doctor, Dr. Romantic, Hospital Playlist ซีรีส์เหล่านี้อาจจะทำให้เด็กๆ หรือวัยรุ่นอยากเป็นหมอก็เป็นได้
หรือบทที่เกี่ยวกับนักกีฬา อย่าง Hot Stove League ซึ่งเป็นซีรีส์ที่ได้รับรางวัลด้วยเช่นกัน เชื่อว่าถ้าเด็กๆ ได้ดูก็คงอยากเป็นนักกีฬา หรือผู้ใหญ่อย่างเราที่ดูแล้วก็อยากจะทำงานของตัวเองให้เต็มที่อย่าง ผู้จัดการแพค เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการชิงไหวชิงพริบในวงการกีฬาเบสบอล ถามว่าผู้เขียนดูเบสบอลเป็นมั้ย ก็ไม่ แต่ดูซีรีส์แล้วสนุก
หรือซีรีส์ที่ได้รับรางวัลอีกเรื่องอย่าง When the Camellia Blooms ตอนแรกเหมือนจะไม่มีอะไรแต่ดูไป ดูไป อ้าวดีซะงั้นเป็นเรื่องราวของความเป็นแม่ที่ไม่น่าเบื่อเลย ผู้เขียนดูแล้วถึงขนาดอยากเปิดร้านเหล้าตามเจ๊กงแกเลยทีเดียว
หรือแม้แต่บทละครเกี่ยวกับเมียหลวง เมียน้อยอย่าง A world of Married Couple เค้าก็ทำได้ออกมาดูไม่น่ารำคาญ ไม่มีการกรีดร้อง แย่งชิง ถลึงตาใส่กันระหว่างเมียหลวงและเมียน้อย ทุกอย่างใช้สมองล้วนๆ ในการเอาคืนเมียน้อยและสามีจอมเห็นแก่ตัว ทำให้รู้เลยว่าการแต่งงานไม่ได้แฮปปี้เอนดิ้ง แต่มันคือจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่าง
จะเห็นได้ว่าบทละครของซีรีส์เกาหลีมีความหลากหลาย ไม่ซ้ำกัน มีการพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย และเป็นบทละครที่จับต้องได้ในชีวิตของเราในปัจจุบัน ซึ่งทำให้คนดูเข้าถึงได้ง่าย แตกต่างกับบทละครไทยที่น้อยเรื่องจะพูดถึงอาชีพต่างๆ อย่างจริงจัง และส่วนใหญ่จะเป็นบทที่ไม่ได้ปรับให้เข้ากับยุคสมัยซักเท่าไหร่นัก
เรายังไม่เห็นละครไทยที่เกี่ยวกับวงการแพทย์จริงๆ จังๆ ทั้งๆ ที่บ้านเราการแพทย์ติดอันดับโลก
เรายังไม่เคยเห็นละครไทยที่เกี่ยวกับการเกษตร ทั้งๆ ที่บ้านเราทำการเกษตรมากติดอันดับโลกเช่นกัน
เรายังไม่เคยเห็นละครไทยที่เกี่ยวกับชีวิตนักกีฬา ทั้งที่คุณนุสราเป็นนักวอลเลย์บอลมือเซตอันดับ 1 ของโลก
เรายังไม่เคยเห็นละครไทยที่เกี่ยวกับชีวิตและความสามารถของ LGBT ทั้งที่บ้านเราให้การยอมรับ และมีสาวประเภทสองที่ได้รางวัลระดับโลก
เสน่ห์อีกอย่างของซีรีส์เกาหลีคือ การตีแผ่เรื่องราวด้านมืดของวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองโกงกิน อัยการรับสินบน การรับสินบนในวงการแพทย์ และเราก็ไม่เคยเห็นละครไทยทีมีการตีแผ่เรื่องราวเหล่านี้แบบจริงจังเหมือนในซีรีส์เกาหลี
สุดท้ายจะไม่พูดถึงคงไม่ได้ก็คือ
การสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง
ต้องยอมรับว่าการที่จะมีละครหรือซีรีส์ซักเรื่องหนึ่ง ต้องใช้เงินทุน ใช้การสนับสนุนจากหลายๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นความอิสระในการเขียนบทละคร หากข้อจำกัดของบทละครน้อยลง คนเขียนบทน่าจะเขียนได้หลากหลายขึ้นกว่านี้ ผู้เขียนเชื่อว่าเรื่องราวในสังคมประเทศเรา สามารถนำมาตีแผ่เป็นซีรีส์ได้มากโข และน่าดูมากเลยทีเดียว
เคยสังเกตุมั้ยว่าในซีรีส์เกาหลีสามารถมีฉากดื่มเหล้าได้ โดยไม่ต้องโดนเซ็นเซอร์อย่างในประเทศเรา เรื่องนี้อาจจะเป็นข้อถกเถียงที่ว่า ถ้าเด็กๆ เห็นอาจจะเอาไปเป็นตัวอย่าง แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ที่ทุกวันนี้คนไทยฮิตกินปิ้งย่าง กระดกโซจู หรือกินมาม่าเกาหลี ก็เป็นผลมาจากเห็นในซีรีส์เกาหลีทั้งนั้น
คิดเล่นๆ ว่าถ้าในละครบ้านเราสามารถนั่งกระดกเหล้าขาวกันได้ แล้วเหล้าขาวบ้านเราจะขายดีที่เมืองนอกเมืองนาได้หรือเปล่า
สุดท้ายไม่ว่าจะละครไทย หรือซีรีส์เกาหลี ต่างก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงด้วยกันทั้งนั้น ก็แล้วแต่ว่าใครจะนิยมชมชอบแบบไหน อาจจะมองว่าผู้เขียนเอนเอียงไปทางซีรีส์เกาหลี เพราะมีโอกาสได้ดูมากกว่าละครไทย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็หวังว่าซักวันอุตสาหกรรมบันเทิงของบ้านเราจะโด่งดังที่ต่างประเทศบ้าง อยากให้อาหารไทย การแพทย์ไทย สถานที่ท่องเที่ยวไทย หรือความเป็นไทย นักแสดงไทย จะเป็นที่นิยม ออกสู่สายตาของคนดูซีรีส์ คนดูละครในต่างประเทศมากขึ้นกว่านี้